เริ่มต้นสายงาน UX/UI ยังไงดีนะ ?
“พี่คะ อยากเป็น UX/UI Designer ต้องทำยังไงบ้างคะ” เป็นคำถามที่เราเคยถามตอนที่เราอยากจะย้ายมาสายงานนี้ และส่วนใหญ่เราจะได้คำตอบประมาณว่า…
พี่คนนี้: …หยิบสัก Application มา Redesign สิ
พี่คนนั้น: …ทำสักโปรเจกต์นึงมั้ย
พี่คนนู้น: …ไม่รู้อะ อธิบายยากนะ ก็ต้องมีพอร์ตอะ
พี่คนโน้น:…ลองไปขอฝึกงานดูก่อน
แต่เรายังจับจุดที่จะเริ่มไม่ถูก หยิบ Application มาทำหรอ? แล้วมันต้องยังไง? แล้วถ้าเราไม่มีความรู้เราจะไป Redesign ยังไงในเชิง UX/UI จะให้ไปถามบ่อยๆ ก็เกรงใจพี่เค้า
วันนี้เราเลยอยากมาเล่า 10 วิธีการเริ่มต้นเรียนรู้สายงาน UX แบบที่ทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำตอนเริ่มย้ายสายงานมา รวมกับข้อมูลที่เราได้เก็บตกมาหลังจากย้ายสายได้แล้ว มีอะไรน่าสนใจเราก็อยากมารวมให้เป็นข้อมูลเบื้องต้น
บทความนี้เหมาะกับคนที่อยากเริ่มต้นแต่ยังหลงทางหรือเริ่มไม่ถูก ยังไม่แน่ใจว่าอะไรคืออะไร เริ่มจากอะไรดีนะ งั้นเริ่มจากบทความนี้ก่อนได้เลย
Disclaimer: เขียนจากประสบการณ์ที่เราได้ทำจริงๆ ช่วงที่เราพยายามย้ายสายงาน กระบวนการของแต่ละคนที่มาสายนี้อาจจะมาไม่เหมือนกัน ลองอ่านของเราประกอบกับของคนอื่นๆ ต่อได้ เราไม่ได้บอกว่าต้องทำทั้งหมดนี้แล้วการันตีว่าจะเป็น UX/UI Designerได้ แต่ที่ได้แน่ๆ คือความรู้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
และบทความนี้ไม่ได้รับค่าจ้างโปรโมตแต่อย่างใด
สรุปสำหรับคนขี้เกียจอ่าน
- ค้นคว้าด้วยตัวเองก่อน
- อ่านหนังสือหรือบทความเรื่อง UX/UI
- ฟัง Podcast หรือดู Youtube เกี่ยวกับ UX/UI
- พาตัวเองเข้าไปอยู่ใน UX community
- ติดตาม Instagram เกี่ยวกับ UX/UI
- หาคอร์สเรียน
- ฝึกทำ Daily UI
- ดูตัวอย่าง Case study หรือ Portfolio ของคนอื่น
- หา Mentor
- ลงมือทำโปรเจกต์
1. ค้นคว้าด้วยตัวเองก่อน
เมื่อเราอยากรู้สิ่งไหน ในยุคนี้มันไม่ยากเท่าไหร่นักเพราะมันมีสิ่งที่เรียกว่า Google และเพื่อเป็นการฝึก Skill การเป็น UX/UI Designer สิ่งหนึ่งที่เราควรมีคือ การค้นคว้าด้วยตัวเองหรือการทำ Research เพราะเราคิดว่าคงมีคนเล่าเยอะมากๆ แล้วว่าการเริ่มต้นศึกษาหรือมาสายนี้ควรเริ่มจากอะไร ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เมื่อเราลองหาข้อมูลแล้วติดข้อสงสัยอะไร อาจจะลองลิสต์ออกมาก่อนแล้วค่อยหาใครสักคนใน Community เพื่อถาม หรือการใช้ Search ใน UX community เราอาจจะเจอคนที่เคยถามแบบเราหรือเราอาจจะเจอคำตอบในสิ่งที่เราตามหาอยู่ก็ได้ สามารถ Search ได้ทุกอย่างทั้งวิธีการเริ่มต้น หาคอร์สเรียน หรือการใช้โปรแกรม
เราเข้าใจว่าหลายคนอยากจะ “ถาม” เพราะอาจจะมีความอยากรู้ในระดับที่ไม่เท่ากัน แต่อยากจะให้ลองใช้สกิลการค้นหาให้เต็มที่ก่อน เราคิดว่าถ้ามีสกิลการค้นหาติดตัวไป ต่อไปเราจะนำไปใช้ในการทำงานได้ด้วย
Blog ที่เคยเล่าเรื่องย้ายสายหรือมาเริ่มต้น UX/UI
- บันทึกการเปลี่ยนอาชีพจาก Graphic Designer มาเป็น UX/UI Designer | by Chotika Sopitarchasak
2. KBTG Inspire — ทำไมโปรเจคสมมติเล็กๆ สมัยเรียน ถึงมีส่วนทำให้ฉันกลายเป็นหนึ่งใน Designer ของ KBTG | by Sascha May
2. อ่านหนังสือหรือบทความเกี่ยวกับ UX/UI
เมื่อเริ่มต้นจะเรียนรู้และทำความเข้าใจ เราคิดว่าการอ่านเป็นการเริ่มต้นที่ดี เราสามารถหาอ่านได้ทั้งหนังสือ, บทความ, เพจแชร์ความรู้ต่างๆ หรือการดู Youtube เพื่อทำความเข้าใจ เราเลยอยากมาแนะนำบางส่วนที่อาจจะพอเป็นแนวทางค่ะ
หนังสือ
หนังสือที่เราคิดว่ามือใหม่มากๆ ควรมีติดตัวไว้ จริงๆ มีหนังสือด้านนี้มีเยอะมากค่ะ แต่ถ้าให้แนะนำ 3 เล่มแรกของการเข้าสู่วงการ UX/UI ก็จะเป็น 3 เล่มนี้ค่ะ
1. Don’t make me think (แค่ต้องคิดก็ผิดแล้ว)
เล่มนี้เป็นเล่ม Basic ที่คนเริ่มต้นสายงานนี้ควรอ่าน เพื่อให้เข้าใจคอนเซ็ปต์ของการออกแบบเว็บไซต์ เล่มนี้สำนวนการอ่านค่อนข้างง่าย เข้าใจได้ง่าย เหมาะกับคนที่เป็นมือใหม่มากๆ เราเองก็หยิบกลับมาอ่านบ่อยๆ แต่ตอนนี้เล่มนี้ในเวอร์ชั่นแปลไทยค่อนข้างหายากแล้ว แนะนำให้ลองอ่านเป็นภาษาอังกฤษ หรือจะลองฟังสรุปที่อ.ฮิมเคยสรุปไว้ใน Podcast อันนี้ก็ได้ (จริงๆ แล้วถ้าเสิร์ชดีๆ จะเจอแบบ PDF ที่มีปล่อยฟรีอยู่เป็นภาษาอังกฤษ) แล้วเหมือนมันจะมีเล่มสีขาวอีกอัน เหมือนเนื้อหาจะต่างกันนิดหน่อย แต่เรายังไม่เคยไปดูเล่มสีขาวค่ะ
2. Rocket surgery made easy (แค่ทดสอบ ก็ตอบโจทย์)
เล่มนี้เป็นเหมือนภาคต่อจากเล่มบนซึ่งพูดถึงการทำ Usability testing อ่านง่าย เข้าใจได้ไม่ยาก เรียกได้ว่าถ้าอยากทำความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องของการทำ Usability testing ก็ควรอ่านเล่มนี้
3. 100 things every designer needs to know about people (ไม่ใช่แค่ออกแบบได้ แต่ออกแบบโดน)
เล่มนี้จะพูดถึงหลักทางจิตวิทยาในการออกแบบ เป็นสิ่งที่ Designer ทุกคนควรจะรู้เมื่อเราอยากจะออกแบบอะไรสักอย่าง ซึ่งมันจะทำให้เราออกแบบได้ดียิ่งขึ้นเมื่อเราเข้าใจเรื่องของมนุษย์ หรือเหตุผลที่เราไม่ควรวางตัวหนังสือสีแดงบนสีน้ำเงิน เล่มนี้อ.ฮิมเองก็มีทำ review สรุปไว้ สามารถไปลองฟังการหาซื้อเล่มนี้ มีทั้งแปลไทยและภาษาอังกฤษ เป็นเล่มที่หาได้ไม่ยาก
Note: สำนักพิมพ์ที่มีหนังสือเกี่ยวกับ UX แบบแปลมาเป็นภาษาไทยเยอะประมาณนึงเลยคือสำนักพิมพ์ Welearn สามารถไปลองหาตามๆ กันได้
Medium
นอกจากหนังสือแล้ว Medium ก็เป็นแหล่งการเรียนรู้ชั้นดีเกี่ยวกับ UX/UI มีคนมาเขียนบทความเยอะมากๆ อาจจะเป็นภาษาอังกฤษซะส่วนใหญ่แต่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อคนที่อยากจะเข้ามาอยู่สายนี้ มีทั้งฝั่ง UX และ UI เลย ลองเข้าไปอ่านตาม List ที่เราคัดมาเบื้องต้นได้
- UX Collective
- UX Planet
- Nathan Curtis (เจ้าพ่อวงการ Design system)
- Flowmapp
- UX Movement
- Apirak
Facebook Page
ยังมี Facebook page บางเพจที่คอยมาแชร์เทคนิคหรือวิธีการต่างๆ เกี่ยวกับด้าน UX/UI ยังมีคำแนะนำในการทำ Product ซึ่งเราสามารถไปติดตามได้ค่ะ เราจะ List มาบางส่วนนะคะที่เราติดตามอยู่
Website
ข้างล่างเป็น List เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ UX/UI ที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยไว้ จริงๆ ถ้าเราไม่มีปัญหาด้านภาษาอังกฤษ การอ่านจากภาษาอังกฤษจะทำให้เราเก่งขึ้นมากๆ
- Nielsen Norman Group (แนะนำมากๆ UX ทุกคนต้องเคยอ่านหรือเรียนผ่านบทความของ NNGroup มาก่อน)
- Interaction Design Foundation (นอกจากบทความยังมีคอร์สอนด้วย)
- UXCel (แนะนำสำหรับสายเพิ่งเริ่มต้น มีคอร์สสนุกๆ และบทความให้อ่าน)
- Designil (อันนี้เป็นภาษาไทย)
- Make it toolkit
3. ฟัง Podcast หรือดู Youtube เกี่ยวกับ UX/UI
อีกวิธีนึงที่อาจจะทำให้เราได้ซึมซับและเข้าใจ UX/UI สำหรับเราคือการฟัง Podcast หรือดู Youtube เกี่ยวกับ UX/UI มีหลายช่องมากๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ บางคนอาจจะรู้สึกอ่านแล้วไม่เข้าใจเท่ากับการฟังหรือดูคลิป อันนี้เป็น List ของ Podcast/Youtube ที่น่าสนใจ
Podcast
- Puxod Podcast (Spotify)
ผักสดพอดแคสต์ ของพี่พิจ จาก Pruxus ส่วนใหญ่จะพูดในแง่ของการทำ UX เป็นหลัก ทั้งเรื่องของ Research, Metric หรือ Usability testing ซึ่งเราสามารถเอาไว้ฟังเพื่อเรียนรู้ได้อีกทาง - หมีเรื่องมาเล่า
เป็น Live สบายๆ ของพี่หมีต่อและพี่หมีป๋อม ชวนคุยเรื่องเกี่ยวกับ UX และ Data แต่หลังๆ จะหนักไปทาง Facebook live - Him Chitchat (Spotify)
เป็น Podcast ของอาจารย์ฮิม อาจารย์ที่คณะสถาปัตย์บางมด อาจารย์ของเราเองค่ะ อาจารย์จะมารีวิวหนังสือที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับ UX และการทำ Product อาจจะเหมาะกับหลายๆ คนที่อาจจะอยากรู้ Key takeaway หรือดูเนื้อหาคร่าวๆ ของหนังสือ แล้วก็เหมาะกับหลายคนที่อาจจะเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่สามารถซื้อหนังสือได้ทั้งหมด อันนี้แนะนำมากๆ เลย
Youtube
- Figma
เป็น Channel ที่ทาง Figma ออกมาเอง สามารถเรียนรู้และฝึกใช้โปรแกรมได้ฟรีๆ เลย เป็นภาษาอังกฤษแต่มี Subtitle ภาษาอังกฤษให้ ตามได้ไม่ยาก
2. Jesse Showalter
ช่องของคุณ Jesse มีสอนทั้ง UX/UI มี Trick ให้ตามเยอะอยู่เหมือนกันค่ะ สามารถดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ถ้าเป็น Membership ด้วย
3. NN Group
คนที่เป็น UX ทุกคนต้องรู้จัก NN Group หรือ Nielsen Norman Group เป็นตัวตึงประจำสาย UX เลย จะมีสอนเป็น Short clip
4. Uncle Ake
เป็นอีกช่องที่มีสอนเกี่ยวกับ UX/UI หลักๆ จะเป็นการสอนใช้ Figma, การออกแบบ UI, รวมถึงพวกเว็บ HTML ต่างๆ เป็นช่องของคนไทยค่ะ
5. Upskill UX
เป็น Channel ของคนไทยหรือก็คือคุณชิพจาก Upskill UX เหมาะมากๆ กับคนที่อาจจะไม่ถนัดภาษาอังกฤษ มีเล่าหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับ UX/UI แล้วก็มี Live สอนอยู่บ่อยๆ เหมาะกับมือใหม่เลยค่ะ
เราเองก็เคยไปเล่าประสบการณ์การย้ายสายที่ Upskill UX มาเหมือนกัน
อันนี้เป็นแค่บางส่วนนะคะ จริงๆ ยังมีอีกหลายๆ Source ที่สามารถไปตามหาได้ เราคงลิสต์มาทั้งหมดไม่ได้ อาจจะต้องตามหากันเองบางส่วนค่ะ ถูกจริตกับอันไหนก็ลุยเลย
4. พาตัวเองเข้าไปอยู่ใน Community ของ UX
เพื่อให้ตัวเองเข้าใจว่าคนทำงานสายนี้คิดยังไง เจออะไรบ้าง ทำงานยังไง เจอปัญหาอะไร การเข้าไปอยู่ใน Community ของ UX อาจจะช่วยทำให้เราเข้าใจได้เร็วขึ้น มีทั้งที่เป็น Facebook group, Discord และ Group Line เราอาจจะไม่ต้องแสดงตัว อาจจะซ่อนตัวเพื่อดูว่าเค้าคุยอะไรกัน แน่นอนว่าถ้าเรามีคำถามหรือข้อสงสัย เราก็สามารถถามได้
แต่อย่างที่เราแนะนำไปในขั้นต้นคือ ค้นคว้าให้เต็มที่ก่อนแล้วค่อยถาม จะดีกว่าการที่เรายังไม่ได้ลองเลย
นอกจากการเข้าไปสังเกตการณ์ พูดคุยและสอบถามเกี่ยวกับ UX/UI บางบริษัทก็มีไปหาคนทำงานตามกรุ๊ปเหล่านี้ด้วย ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะมองหาช่องทางในการสมัครงาน หรือไปดูว่าคนที่เค้ามาหาคนทำงาน เค้าอยากได้คนที่มีสกิลอะไรบ้าง เราจะได้ไป Improve ในส่วนนั้นเพิ่มเติม
เราอาจจะไม่สามารถหาทุกกรุ๊ปมาวางได้ แต่ลองไปตามๆ จากลิสต์ที่เราวางไว้ด้านล่างได้ค่ะ
Facebook Group
Discord
Discord อาจจะมีข้อจำกัดเรื่อง Link เพื่อเข้า Discord ของแต่ละกรุ๊ป ถ้าใครติดเข้าไม่ได้ สามารถเข้า Facebook Group เพื่อไปขอลิ้งก์ใหม่ได้ค่ะ
Line Group (เราอยู่ทั้ง 2 กรุ๊ปค่ะ)
- Upskill UX มาเรียน UX/UI สนุกๆ กันเถอะ
2. UXUI Community
อีกวิธีที่ทำให้เราเข้าใจในการทำ UX มากขึ้น สำหรับเราคือการลงมือทำ เพราะเมื่อเราลงมือทำเราจะเห็นสถานการณ์เร็วขึ้น การไปเป็นอาสาสมัครอาจจะช่วยได้ ซึ่งก็มีบางโครงการที่รับอยู่เช่น งาน UX Thailand day ซึ่งตอนนี้ (ประมาณกรกฎาคม 2566) ทาง UX Thailand กำลังจะจัดเตรียมงาน UX Thailand Day 2023 ซึ่งต้องการอาสาสมัครจำนวนมากเพื่อมาช่วยเสริมสร้าง Experience ให้กับ Speaker และ Audience ที่จะมาให้งานใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งครั้งล่าสุดที่จัดเป็นช่วงก่อนที่จะมีโควิด ถ้าใครสนใจก็สามารถเข้าร่วมโดยไปถามได้ที่กรุ๊ป UX Thailand ได้เลยค่ะ
5. ติดตาม Instagram เกี่ยวกับ UX/UI
โดยส่วนตัวเราเป็นคนเล่น Instagram อยู่ทุกวัน ต้องเปิดเข้าไปดูบ่อยๆ วันนึงก็ 5–6 รอบ แล้วทำไมเราจะไม่ฉวยโอกาสช่วงที่เราเข้าไปดูรูปคนอื่น ศึกษาเรื่อง UX/UI บ้างละ?
ใน Instagram มันอาจจะถูกจำกัดจำนวนรูปในแต่ละโพสท์ หรืออาจจะเป็น Reel สั้นๆ แต่เพราะเมื่อถูกจำกัดด้วยเวลา สิ่งที่เค้าเหล่านั้นเอามาโพสท์ก็อาจจะสรุปมาให้เราแล้ว เอาจริงๆ เราเองได้เทคนิคเยอะมากในการทำงาน UI จาก Instagram ที่เราติดตาม ในพาร์ทของ UX เองเราก็ได้อ่านและซึบซับอยู่ตลอด
สิ่งที่เราทำคือเมื่อเราดูแล้วรู้สึกว่าอันไหนจะมีประโยชน์กับเราแน่ๆ หรือเรายังอ่อนในเรื่องนี้ เราจะ Save เป็น Collection เก็บไว้ และสิ่งที่สำคัญคือการเอามาทบทวนดูบ่อยๆ และลงมือทำตามที่เค้าสอน
นี่คือ List ส่วนหนึ่งของคนที่เราตามใน Instagram
- NNGUX
- UIBucket
- Zander Whitehurst
- memorisely
- supercharge.design
- uiplug
- marina.uiux
- uix.osm
- uiuxbunker
- malewiczhype
- janm_ux
- uiuxdailytips
- Productmixtape
จริงๆ ยังมีอีกหลาย Account มากที่มาให้ความรู้ด้าน UX/UI หรือ Trick การใช้ Figma ต่างๆ ซึ่งสามารถไปตาม Follow ตามแต่จริตของแต่ละคนได้เลย ย้ำว่านี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ Account ที่เราตามอยู่
6. หาคอร์สเรียน
คอร์สเรียนมีหลายแบบมาก ทั้งเป็นคอร์สออนไลน์ตาม Youtube, เว็บไซต์อย่าง Coursera, Udemy หรือ Domestika ยังมีเพจต่างๆ มาเปิดสอนแบบสอนสดผ่าน Zoom หรือจะลงเรียนเป็น Workshop จบใน 1–2 วันก็มี บางคนที่จริงจังมากก็ไปเรียนเป็นปริญญาเลยก็มีค่ะ ซึ่งทั้งหมดที่เราเรียนช่วงย้ายสาย เราเคยทำรีวิวไปแล้ว สามารถไปอ่านแบบละเอียดใน บทความ Review คอร์สเรียน UX/UI ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ
คอร์สและ Workshop ในไทยที่อยากแนะนำ
- Gamification Design — TU Certified Program | Short course (สอนเป็นภาษาอังกฤษ)
- Understand your information by Pruxus (อ่านที่เราเคยรีวิวไว้ได้ที่ Workshop Review) | Workshop
- Skooldio | Online course | Workshop
- Upskill UX | Short course
- Uxui.studio | Short course
- Design system with Figma by Designil | Short course
- UX/UI Bootcamp by Skooldio | Mid course
สำหรับคนที่สนใจเรียน Bootcamp ของ Skooldio สามารถใส่โค้ด MEAWZILAZ จะได้ลด 15% ในฐานะที่เมี่ยวเป็นศิษย์เก่า UX/UI Bootcamp Batch 1 แต่เรื่องของโปรโมชัน ยังไงก็สามารถสอบถามทาง Skooldio ได้เลยค่ะ
ของ Upskill UX กับ Uxui.studio ส่วนตัวเรายังไม่เคยเรียน แต่เท่าที่ได้คุยกับ Mentor ที่สอนก็คิดว่าโอเคเลย แต่เป็นคอร์สระยะสั้นนะคะ เรียนไม่กี่วัน เรามีดูรายละเอียดคร่าวๆ ของคอร์สก็เห็นมีสอนเบื้องต้นของเรื่อง UX/UI อยู่ค่ะ
คอร์สภาษาอังกฤษที่อยากแนะนำ
ในส่วนของคอร์สแบบระยะสั้น เราเจอแต่ราคาโหดๆ แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ อ่านเอง เรียนง่าย และสนุก จะมีคอร์สออนไลน์ที่เราจะแนะนำทุกคนเลยคือ UXCel ซึ่งเป็นเว็บสอน UX/UI เป็นการอ่านสิ่งที่เค้าย่อยมาแล้ว และตอบคำถาม มี Certificate ด้วย
สำหรับคอร์สเรียนระยะยาว Full time แบบ 3–4 เดือนเหมือนที่เราเคยมีไปแตะๆ เรียนที่ General Assembly ที่สิงคโปร์ เรายังไม่เจอในไทยนะคะ แต่คิดว่าบางมหาวิทยาลัยในไทยน่าจะเริ่มมีสอนเป็นหลักสูตรแล้ว อันนี้อาจจะต้องลองหากันเองนะคะ ส่วนของต่างประเทศก็พอแนะนำประมาณนี้ค่ะ แต่บอกก่อนว่าแพงมากๆ หลัก 100,000 บาทขึ้นไปนะคะ แต่ใครไปไหวก็ลุยได้ค่ะ
- General Assembly
- NNGroup
- Careerfoundry
- Springboard
- Memorisely
- Google UX Design by coursera (ไม่แพงมาก)
- Interaction Design Foundation (ไม่แพงมาก)
จากในลิสต์ด้านบนเราเคยเรียนแค่ General Assembly เป็นการเรียนที่โหดมาก (Full time 3 เดือน) ซึ่งเราเรียนไม่ผ่านค่ะ และอีกที่คือ Interaction Design Foundation ซึ่งบทความยาวและอ่านค่อนข้างยาก แต่ไม่แพง ส่วนที่เหลือเป็นทางเลือกที่เราเคยลองเสิร์ชหาตอนจะหาที่เรียน แต่สู้ราคาไม่ไหวและความสามารถทางภาษาเรายังไม่ถึง มีทั้งที่เรียนเป็น Full time และ Part time อาจจะต้องเอาไปศึกษาเพิ่มเติมกันเอง ส่วนตัวเราแอบสนใจของ Memorisely อยู่
7. ฝึกทำ Daily UI
วิธีการติด speed การทำ UI อย่างหนึ่งเลยคือเราควรใช้โปรแกรมให้เป็น โปรแกรมที่ใช้หลักๆในการทำ UI จะมี Figma, Sketch และ Adobe XD แต่เราคิดว่าตอนนี้ หลายๆ บริษัทน่าจะหันมาใช้ Figma กันหมด ส่วนตัวเรามองว่าคนที่เคยใช้พวก Adobe Photoshop จะใช้งาน Figma ไม่ยากเท่ากับคนที่อาจจะไม่เคยลองใช้โปรแกรมพวกนี้ เพราะ Logic การใช้โปรแกรมไม่ต่างกันมากนัก (Bias ส่วนตัวล้วนๆ)
นอกจากการใช้โปรแกรมแล้ว ยังมีเรื่องของการออกแบบ User interface อีก ซึ่งสำหรับมือใหม่ เราแนะนำให้ลองเล่น DailyUI
DailyUI เป็นโปรแกรมฝึกการออกแบบ UI ตามโจทย์ต่างๆ เป็นเวลา 100 วัน โดยที่ทาง DailyUI จะส่งโจทย์เข้ามาใน Email ให้ทำเช่น ออกแบบหน้า Login หรือหน้า Search เมื่อเราได้ฝึกฝนบ่อยๆ งานเราจะเป๊ะขึ้น สวยขึ้น และจะเริ่มเข้าใจว่าทำไมของอันนี้ต้องวางตรงนี้
แล้วเราสามารถเอางานที่เราทำไปแปะใน Portfolio ของเราได้ว่าเราเคยฝึกทำมานะ จะลง Behance หรือ Dribbble ก็ได้
8. ดูตัวอย่าง Case study หรือ Portfolio ของคนอื่น
ข้อนี้อาจจะยากประมาณนึงตรงที่ปกติแล้วจะไม่มีใครโชว์ Portfolio ของตัวเองให้คนอื่นดูง่ายๆ หนึ่งในเหตุผลหลักเลยคือเรื่องของโปรเจกต์ที่เอามาลงพอร์ต ซึ่งหลายๆ ตัวเป็นเรื่องที่เปิดเผยไม่ได้ แต่เราก็ยังไม่หมดโอกาสค่ะ ตัว Portfolio ในไทยอาจจะไม่มีให้ดูแต่เราสามารถหาดูของเมืองนอกได้เป็นบางเคส
เราเลยอยากมาแนะนำให้ลองเข้าไปดูที่ UXFol.io ซึ่งเป็นทั้งเว็บที่เอาไว้ให้เราทำ Portfolio ได้ด้วย (มีทั้งเสียตังและฟรี) แต่สิ่งที่เราจะให้ดูไม่ใช่แค่ว่าเค้าเลือกสีหรือทำ UI ยังไง
แต่ให้ดูว่าเค้าเล่าเรื่อง, เรียงข้อมูล และเลือกอะไรมาลงใน Portfolio
เมื่อเราดูเยอะๆ เราจะเริ่มมีโครงในหัวว่าเราจะต้องเล่าเรื่องยังไงในโปรเจกต์ของเรา งานหลายๆ ตัวพอมันเป็นโปรเจกต์ที่ไม่ได้เกิดจากเคสจริง บางทีมันจะไม่ได้เห็นว่าอะไรเป็นปัญหา, อุปสรรค หรือ Pain point ที่เราช่วยแก้ปัญหาให้ User มันเลยทำให้คนที่มาดูพอร์ตเราไม่เห็นภาพ
อีกอย่างที่พอจะไปดูได้คือการที่มีคนมาเล่าเคสต่างๆ ที่เกิดขึ้น เคสที่เราชอบคือ
1. Make by KBank เล่าด้วยมุมมองของ PO
2. [Case Study] เมื่อ UX นัดเพื่อนถ่ายรูปรับปริญญา ธรรมดาๆ ไม่ใส่ไข่แต่ใส่ใจ
3. UX Thailand Talk 2023 #1: เมื่อ UX อยู่ในใจกรมสรรพกร อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงใน 3 ปี ที่ผ่านมา
เมื่อเราได้อ่านหรือคิดตามสิ่งที่ Case study เหล่านี้เล่าให้เราฟัง เราจะเริ่มเข้าใจกระบวนการคิดและการเล่าเรื่องใน Portfolio ของเราให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
9. หา Mentor
พยายามหาคนที่เราพอจะปรึกษาเรื่องชีวิตการจะมาเป็น UX อาจจะช่วยให้เราเข้าถึงการเป็น UX มากขึ้น ตอนนั้นเราเองก็มีหาคนคุยอยู่ตลอด คนที่เราคุยด้วยคือนัท เกษสุรางค์ ที่เป็นเจ้าของเพจ Designil ซึ่งเราคุยปรึกษากับนัทมาตั้งแต่ตอนที่เรายังเรียนอยู่กับ General Assembly เลย ในตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันมี Platform ที่เป็นทางการในการหาคนคุยเรื่องนี้ แต่ตอนนี้มี Platform ให้เราหา Mentor คอยพูดคุย เลยอยากมาแนะนำ ADPList.org
ADPList เป็น Platform ที่เราสามารถคุยกับผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาจากทั่วโลกเลย และไม่ได้มีแค่ด้าน UX ซึ่งเราสามารถนัดตามวันและเวลาที่ Mentor ว่างได้เลย สามารถเลือกตามสาย Industry ที่เราสนใจ จะคุยเรื่องการเตรียมตัว, การทำงานใน Industry นั้นๆ, ลองเล่า Portfolio หรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ (ใช้ภาษาอังกฤษเยอะหน่อย)
ที่สำคัญคือ ฟรี!!!!
Mentor ที่เป็นคนไทยก็มีเหมือนกัน ส่วนตัวเราเคยคุยกับคุณเมย์ (Sira Hanchana) แต่เป็นช่วงที่เราเปลี่ยนบริษัท ซึ่งก็ได้คำแนะนำที่ดีมากๆ ในการทำ Portfolio เราเลยคิดว่าถ้าระหว่างที่เรากำลังจะย้ายสาย ลองหาผู้เชี่ยวชาญหรือใครสักคนเพื่อคุยปรึกษาในเรื่องนี้น่าจะดีค่ะ
10. ลงมือทำ
สุดท้ายก็คือการลงมือทำโปรเจกต์ขึ้นมา เราคิดว่าสิ่งที่เรียนในห้องเรียนกับโลกความเป็นจริงมันต่างกัน ถ้าเราได้ลงมือทำ เราจะเห็นความต่างที่บางทีมันไม่สามารถอธิบายในห้องเรียนได้ ของเราตอนนั้นโชคดีที่ได้เรียนคอร์ส Gamification ซึ่งทาง Mentor ที่สอนก็ให้โอกาสเราได้ลงมือทำโปรเจกต์จริงกับลูกค้าจริง ซึ่งพอได้ลงมือทำก็ทำให้เข้าใจอะไรๆ มากขึ้น
ตอนที่เราเรียนมันดูเหมือนจะเข้าใจไม่ยาก อุปสรรคไม่มี แต่พอได้มาทำงานจริงๆ จะพบอะไรอีกมากมายที่ซ่อนอยู่ สำหรับคนที่ยังไม่รู้จะเริ่มทำโปรเจกต์ยังไง เราพอจะมีสิ่งมาแนะนำคือ
- ลอง Redesign ของที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิม
เช่นเราอาจจะเห็นแอปนึง เรารู้สึกว่าใช้แล้วหงุดหงิดหรือมีใครบ่นหน้าบางหน้า เราอาจจะเริ่มสตาร์ทที่ตรงนั้น Redesign ในที่นี้ไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่หมายถึงใช้งานง่ายขึ้นและแก้ Pain point ได้ อาจจะเริ่มจากตั้งสมมติฐาน และทำตามกระบวนการของ Design Thinking ให้จบไปยัน Test เลย - ลองตั้งโจทย์เอง
เช่นเราอาจจะตั้งโจทย์แบบ อยากให้ User ที่เป็นผู้สูงอายุใช้ Netflix ได้ง่ายขึ้น ก็ลองใช้กระบวนการที่เราได้เรียนสะสมมา แล้วลงมือทำได้เลย - ลองใช้ Fakeclient
Fakeclient.com เป็น Platform ที่สมมติตัวเองเป็นลูกค้า แล้วเราสามารถไป Random โจทย์ต่างๆ ไม่ได้มีแค่ด้าน UX แต่เราสามารถเอาโจทย์ตรงนี้มาลองทำเพื่อฝึกและเอาใส่ Portfolio ของเราได้
อีกอย่างหนึ่งที่เราพอจะทำได้คือลองไปเป็น User จริงๆ เพื่อทำ Usability test ของคนอื่น ตอนนั้นเราทำเพราะเราอยากรู้ว่าถ้าวันนึงเราต้องทำ Usability test กับ User จริงๆ ของเรา มันต้องทำยังไง จะเจอกระบวนการยังไง แล้วเราสามารถเก็บประสบการณ์ช่วงนั้นมาพลิกแพลงในการทำ Usability test ของโปรเจกต์ของเราได้ด้วย
จบแล้วกับ 10 วิธีที่อาจจะช่วยคนที่กำลังหลงทางหรือเริ่มต้นไม่ถูกกับสายงาน UX นี่อาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เราเคยทำมา อาจจะมีวิธีอื่นหรือสถาบันอื่นที่สอนเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก ยังไงเราก็เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ หวังว่าบทความของเราจะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคน
ยังไงก็สามารถเข้ามาคุยกับเมี่ยวได้ที่ Twitter @meawzilaz หรือจะมาคอมเม้นต์พูดคุยใต้บทความนี้ก็ได้ค่ะ หรือจะเข้าไปใน Line group ที่เราแปะไว้ด้านบนเพื่อพูดคุยได้เลยค่ะ