บันทึกการเปลี่ยนอาชีพจาก Graphic Designer มาเป็น UX/UI Designer

Chotika Sopitarchasak
7 min readJan 28, 2022

--

“เราเปลี่ยนจาก Graphic Designer ไปเป็น UX/UI Designer ได้ยังไง?” “ทำไมเราถึงเปลี่ยนสายมา?” “ทำอะไรมาบ้างช่วงเปลี่ยนสายงาน?” “อายุ 30 แล้วจะเริ่มใหม่ได้มั้ยกับงานสายนี้?” เป็นคำถามที่เราถูกถามบ่อยมาก ๆ เราเลยอยากมาเขียนบันทึกว่าเราต้องทำอะไรบ้าง เตรียมตัวยังไงบ้างจนเราได้มาเดินทางสายนี้ได้

ทวีตบ่นอยากเปลี่ยนสายมาเนิ่นนาน

เราขอเล่า background ก่อน เราจบสถาปัตย์บางมด ภาควิชานิเทศศิลป์ (Communication Design) เป็นภาคภาษาอังกฤษ จบมาเป็นกราฟิกมาประมาณ 10 ปี ทำสายสิ่งพิมพ์มาโดยตลอด ทำเอเจนซี่อยู่ 1 ปีครึ่ง ก่อนย้ายมาทำตามความฝันของตัวเองนั่นคือ การเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ที่มีชื่ออยู่ในนิตยสาร เราได้ทำนิตยสารท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก เราทำงานจาก Junior จนได้โปรโมทมาเป็น Senior มันเป็น Dream job และ Comfort zone ชั้นเยี่ยม แต่ในขณะเดียวกันตลอด 7–8 ปีที่ทำงานมา เราก็สนใจ อ่าน และแชร์บทความเกี่ยวกับ UX/UI มาตลอด เรามีความรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่เห็นลิฟท์ที่มันมีปุ่มแปลก ๆ ในตำแหน่งที่มันอิหยังวะ แต่ก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร เราถามหลายคนมากๆว่าอยากทำแอป ออกแบบเว็บต้องทำอะไรยังไงบ้างมาเรื่อย ๆ แต่เราก็ไม่ทำอะไร ระหว่างนี้มีคนชวนให้ย้ายสายงานไปทำด้านดิจิทัลทำเว็บมาตลอด แต่เพราะ Dream job และ Comfort zone นี่แหละที่ทำให้เราเลยไม่ไปไหน แล้วเราก็กลัว กลัวว่าเราจะทำไม่ได้ แล้วใครจะไปรับคนเป็น Junior ที่อายุ 30 อัปกัน แต่วันที่เราต้องตัดสินใจก็มาถึง วันที่เราไม่โอเคกับคนที่ทำงาน, เงินเดือนที่อยู่ที่เดิมมา 4 ปีไม่ไปไหน, อนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์ที่แย่ลงทุกวัน และอาการซึมเศร้าเรื้อรังที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ แต่โชคดีที่เราได้แต่งงาน เราตัดสินใจลาออกงานแบบที่ไม่มีงานอะไรรองรับช่วงสิงหาคม 2019 เราเองต้องย้ายประะเทศด้วยเพราะแฟนเราทำงานที่สิงคโปร์ ก็เท่ากับเราต้องเริ่มงานใหม่ในประเทศใหม่ แล้วเราก็มาตั้งคำถามว่า เราจะทำอะไรต่อดีนะ อายุ 32 แล้ว จะย้ายไปไหนได้จริงหรอ (มันมีปมหน่อย ๆ เพราะเคยมีคนพูดใส่เราว่าเราก็คงเป็นได้แค่นี้ ไปไหนได้ไม่ไกล)แฟนเราที่เป็น iOS Developer เลยแนะนำว่า “ลองย้ายสายงานไปทำ UX/UI ดีมั้ย”

คลิปที่เราดูตอนกำลังหาข้อมูลเพื่อย้ายสายงาน

เราอาศัยช่วง 2 ปีที่เราว่างงาน มันเป็นช่วงโควิดพอดี เราเองก็ย้ายตามแฟนมาสิงคโปร์ด้วย ในตอนแรกเราพยายามหางานด้าน Graphic ที่สิงคโปร์แล้วก็พบว่ารายได้เมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้วมันพอ ๆ กับที่ไทยเลย เราเลยจริงจังมากขึ้นเรื่องเปลี่ยนสายงาน

เราเริ่มศึกษาจากหลาย ๆ ที่ว่าจะย้ายสายต้องทำยังไง เตรียมตัวยังไง เราพยายามลองหาปริญญาโทหรือมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับ UX เพราะเข้าใจว่ามันต้องใช้ปริญญานะก่อนจะย้ายสายงาน แต่เอาเข้าจริงปริญญาไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย แล้วในไทยเองก็หาที่เรียน UX ในมหาวิทยาลัยยาก เราเลยถามคนทำงาน UX และเปิดดู Youtube ช่องต่าง ๆ ของการย้ายสายทำงานของ UX ส่วนใหญ่จะเป็นช่องต่างประเทศ มีคนนึงเค้าเรียนเคมีแล้วเค้าก็ย้ายสายมา เราก็แบบ เฮ้ย! แบบนี้จากกราฟิกไป UX/UI ก็ได้สินะ ความหวังมาละ

มกราคม 2020

บล็อกของ Designil ที่เราอ่านเกี่ยวกับสายงาน UX

เราเริ่มอ่านบทความจากที่ต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเช่น Designil, NN Group, etc. อ่านทั้งเรื่องการทำงาน UX, การออกแบบ UI, Deign Principles, กระบวนการคิดต่าง ๆ เช่น Design Thinking และอ่านหนังสือที่คนเค้าแนะนำกันมา อย่างเช่น

  1. Don’t Make me think (แค่ต้องคิด ก็ผิดแล้ว)
  2. 100 Things Every Designer Needs to Know About People (ไม่ใช่แค่ออกแบบได้ แต่ออกแบบโดน)
  3. Hooked (สร้างของให้คนติด)
  4. The Design Thinking Playbook (คู่มือการคิดเชิงออกแบบ)
  5. Rocket Surgery Made Easy (แค่ทดสอบก็ตอบโจทย์)
หนังสือที่เราอ่านเพื่อทำความเข้าใจ UX/UI Design เล่มที่อยากแนะนำสำหรับคนที่มาเริ่มต้นคือ เล่มสีแดง Don’t Make Me Think

เราค้นพบว่า แค่อ่านอย่างเดียวคงจะไม่พอ เราเลยเริ่มฝึกใช้โปรแกรม Sketch, Figma และ Adobe XD เพราะมันเป็นเครื่องมือหลักเลยในสายงานนี้ เราเรียนใน Linkedin บ้าง ดูตาม Youtube บ้าง มีลองทำ Challenge เล่น ๆ ของ Adobe (Creative Challenge) เพื่อให้เราคุ้นชินกับโปรแกรมเหล่านี้

จริง ๆ ก่อนที่เราจะลาออก เราก็เคยเรียนคอร์สสอนโปรแกรม Sketch ของ Grappik มาก่อนแล้ว เราเลยเห็นภาพมากขึ้นและความรู้สึกส่วนตัวเราว่ามันไม่ได้ใช้งานยาก มันแค่เป็นเรื่องใหม่เฉย ๆ และเราก็รู้สึกสนุกตอนลองเล่น แล้วเราก็เริ่มเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มี UX เราไปสิงตามกรุ๊ปใน Facebook อย่าง Designil หรือ UX Thailand เพื่อดูว่าเค้าคุยอะไรกันบ้าง งานเป็นยังไง เจอปัญหาอะไร มีอะไรใหม่ ๆ ที่เราต้องอัปเดตบ้าง

แล้วเราก็ชอบสงสัยว่าแบบทำไมเวลาเราถามว่า UX เป็นอะไร คนก็ชอบยกตัวอย่างอะไรที่ไม่ใช่แอปเช่น ลิฟท์ที่มีตำแหน่งของปุ่มแปลก ๆ หรือเรื่องที่เราในชีวิตประจำวัน ตอนแรกก็เข้าใจว่าต้องไปออกแบบอะไรพวกนั้น จนตอนหลังเลยเพิ่งมาเข้าใจว่ามันเป็นเหมือนเบสิคเอาไว้อธิบายคนอื่นที่ไม่รู้เรื่อง UX ให้เค้าพอเข้าใจ แต่หลัก ๆ ที่เราต้องทำก็คือเว็บกับแอปนั่นแหละ

เป็น Challenge ที่ทำให้เราฝึกใช้ Adobe XD

การจะสมัครงานสาย UX/UI ไม่จำเป็นต้องเรียนตรงสายมา แต่เอาเข้าจริงถึงจะบอกว่าจบสายไหนมาทำก็ได้ แต่สุดท้ายถ้าอยากเป็น UX/UI ก็จำเป็นที่จะต้องรู้ Design Principle ไม่ก็ทฤษฎีสีควบคู่ไปด้วย ตรงนี้ทำให้เรารู้สึกว่าพอเป็นกราฟิกแล้วมันพอจะได้เปรียบอยู่บ้าง (แต่เรื่องพวกนี้มันเรียนรู้ได้นะ ไม่ได้ยากอะไรมาก)

สิ่งสำคัญคือ Portfolio ก็เพื่อบอกถึงที่มาที่ไปของงานของเรา สไตล์ของงานเรา วิธีการแก้ปัญหาของปัญหาที่ได้มา มันจะบอกได้ว่าเราทำงานได้จริงมั้ยหรือความรู้ที่เรามีมันเพียงพอมั้ย ซึ่งตรงนี้ถ้าใครชัดเจนว่าจะไป UX หรือ UI ก็สามารถทำโปรเจ็คด้านนี้ใน Portfolio ได้เลย แล้วเรามักจะได้คำแนะนำให้ลอง Redesign App หรือ Web แต่จะแบบอยู่ ๆ จะให้เราออกแบบมาเลยก็ไม่ได้นะ คือเราเองนี่แหละที่ทำไม่ได้ นึกไม่ออกว่ามันต้องเริ่มต้นยังไง

แล้วบริษัทในไทยส่วนใหญ่จะเน้นไปด้าน UI มากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เป็น UX ก็ได้นะ ยังไงก็ต้องมีต้องรู้ไว้ ในองค์กรใหญ่ ๆ บางที่เค้าก็จะแยกตำแหน่งไปเลย หรือย่อยลงไปอีกเช่น UX Researcher, UX Writer และอื่น ๆ ซึ่งถึงตรงนี้เราเองยังไม่รู้ว่าเราจะไปทางไหนเลยเรียนหนักไปทาง UX ก่อน (เรามองว่า UI คล้ายๆกับงานจัดวาง Layout หนังสือ ซึ่งเราทำงานด้านนี้มาตลอด เลยคิดว่าไปลงลึกด้าน UX ดีกว่า)

กรกฎาคม 2020

หลังจากที่เราอ่านและศึกษามาหลายเดือน เรารู้สึกติดขัดในหลายอย่าง ส่วนตัวเราเป็นคนที่จะอ่านทฤษฎีอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องลงมือทำด้วย ไม่งั้นเราจะไม่เข้าใจ แล้วเราก็ไม่มั่นใจว่าที่เราอ่าน ๆ มาหลายเดือนมันเพียงพอมั้ยนะ อันนี้ถือว่ารู้แค่ไหน หรือเราเข้าใจมันจริง ๆ มั้ย เราไม่รู้อะไรว่าความรู้เบสิคที่เราอ่านมามันเบสิคพอที่จะไปทำพอร์ตหรือสมัครงานได้มั้ย และเราเป็นคนมีเงื่อนไขเยอะ คือเราพยายามจะทดลองเรียนคอร์สอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยอย่างพวก Futureskill แต่เราพบว่าเราเรียนกับ VDO ไม่ได้ มันง่วง มันขี้เกียจ มันไม่ Active และเวลาเราสงสัยเราก็หาคนถามไม่ได้ เราเลยเริ่มมองหาคอร์สเรียนที่ไม่ใช่การอัด VDO มาสอน

คอร์ส GA ที่สิงคโปร์

เรา Search หาเรื่อย ๆ จนเจอ General Assembly (GA) เราพบว่าที่นี่มีชื่อเสียงมากในวงการ UX คนเก่ง ๆ หลายคนก็จบจากที่นี่ และตรงสเป็คเราตรงที่เป็นคอร์สระยะยาว เรียนแบบ Hybrid ประมาณ 3 เดือน ราคาแพงมาก (300,000 กว่าบาท) แพงแบบแทบจะถอยรถคันนึงได้เลย แต่เราได้แฟนมาช่วยซัพพอร์ตตรงนี้ คือเขาก็สนับสนุนเส้นทางที่เราเลือก

เราเลยสมัครเรียนกับทาง GA ที่สิงคโปร์ หลักสูตรแบบเข้มข้น เรียนจันทร์-ศุกร์ จะมีได้ทำโปรเจ็คประมาณ 5 ตัว ซึ่งนั่นหมายถึง Portfolio ในการสมัครงานนั่นเอง ในคลาสเรียนมีคนประมาณ 30 คนได้ ซึ่งช่วงแรกเค้ามี VDO ให้ดูก่อนถึงจะได้มาเจอ Instructor กับเพื่อนในคลาส แต่ด้วยเนื้อหาและภาษาอังกฤษที่ทางสิงคโปร์เขาใช้ระดับ Business เลย ประกอบกับโปรเจ็คที่เราเลือกทำ คือเค้าก็กำหนดแหละว่าโปรเจ็คนี้เป็น Mobile App แล้วเค้าก็ให้ Topic เรามาเลือก เราก็รู้สึกว่าเรื่อง Singlish (ภาษาอังกฤษแบบสิงคโปร์แบบ lah!) มันน่าสนใจ เราก็เลือกทำโปรเจ็คนี้แล้วก็คิดขึ้นมาเลยว่าแบบจะทำเป็นพจนานุกรม ซึ่งตอนพรีเซนต์มันดูเหมือนเราพยายามผลักให้มันเป็น Solution นั้น (อันนี้คือสิ่งที่เราทำผิด เพราะเราไปนึกถึง Solution ปลายทาง แล้วมันทำให้ความคิดเราถูกบีบไปทางนั้น) แล้วในความเป็นจริงมันอาจจะไม่ใช่ real pain ก็ได้ ซึ่งเค้าก็พยายามบอกเรานะว่าอย่าเพิ่งคิดถึง Solution แต่ก็นั่นแหละ (คือ Instructor ก็ถามเรานะว่ามันจะมีใครมานั่งเปิด Dictionary เวลาฟังคนอื่นพูดไม่รู้เรื่องกัน พอมาคิด ๆ ก็แบบ เออ จริงด้วย)พอไม่ผ่านโปรเจ็คนี้ เขาก็ให้เราซ่อมโปรเจ็คนะ เราพยายามจะขอเปลี่ยนหัวข้ออื่นที่ไม่ใช่ Communication แต่เค้าไม่ให้เปลี่ยน ตอนซ่อมโปรเจ็คเราเครียดมาก มีเวลาแค่อาทิตย์เดียวในการทำ พอเราคิดออกเค้าก็ยังไม่ให้เราผ่านเพราะเค้าถามถึงสิ่งที่แบบเออ อาทิตย์นึงใครจะไปคิดทันเพราะตอนนั้นเราต้องทำโปรเจ็ค 2 ควบคู่ไปด้วย (โปรเจ็ค Mobile App และ Commercial Website ที่เป็นโปรเจ็คที่ 2)

เลยทำให้เราเรียนได้แค่ 3 อาทิตย์ก็ต้องโดนให้ออกมา เรียนไม่จบ เฟลไปหนึ่ง! เรานอย เราร้องไห้ เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนขี้แพ้ เรารู้สึกเหมือนทำให้แฟนผิดหวัง แต่เค้าก็ยังให้กำลังใจเรานะ เพราะเค้าก็เห็นว่าเราเครียดและตั้งใจกับมันมากแค่ไหน เราเลยเพิ่งมารู้ว่า GA สิงคโปร์สอนยากกว่าที่อื่นเยอะ มาตรฐานสูงมาก แล้วทาง Instructor ก็บอกว่าเราต้องไปฝึกภาษาอังกฤษมาใหม่แล้วค่อยกลับมาเรียนนะ เรานอยอยู่พักนึงเลยอะ รู้สึกเหมือนเป็นคนโง่ภาษาไปเลย ขนาดเราเรียนป.ตรีเป็นภาษาอังกฤษมานะ ทำงานกับคนต่างชาติมา 7–8 ปี ยังไม่รอดเลยหรอ (เราไม่ได้เก่งมาก ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้ ทำงานได้ แต่ไม่ถึงระดับ Business สูง ๆ คลังศัพท์ในหัวเราน้อย) แต่เราก็เก็บประสบการณ์ช่วงที่เรียนมาเป็นความรู้ประดับตัวนะ เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ลงมือทำโปรเจ็คนึง พอเข้าใจคร่าวๆแล้วว่ามันทำยังไง

ระหว่างนั้นเราเองก็มีคุยปรึกษากับนัท (Designil) ซึ่งเค้าก็จบ GA มาเหมือนกันแต่จบจากที่ออสเตรเลีย เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับเรื่อง UX/UI ซึ่งนัทช่วยเราได้มาก ทั้งให้กำลังใจ ให้บทความมาอ่าน ใจดีมาก เราบอกเลยว่านัทเป็นคนที่ทำให้เราได้มาเป็น UX/UI Designer รักกกกก ขอบคุณนัทมาก ๆ

เค้าเคยมาเป็น Guest Speaker ตอนเราเรียนที่ GA

เราเองเคยคิดจะลุยทำ Portfolio เลย ไม่เรียนละ ลงมือทำโปรเจ็คไปเลยดีกว่า เรามองหาหลายที่ มีที่นึงที่น่าสนใจนั่นคือ Sarah Doody เหมือนเค้าจะทำหน้าที่ Coaching เพื่อทำ Portfolio แต่ราคาก็แพงมาก เราสู้ไม่ไหว แล้วมาคิดอีกทีเราว่าเรายังรู้ไม่พอ เรียนไม่พอ เลยคิดว่าอาจจะต้องลองสตาร์ทเรียนในไทยก่อน ในเมื่อภาษาอังกฤษไม่ได้ใช่มั้ย งั้นภาษาไทยก็ได้ (Feeling แบบ เดี๋ยวมึงเจอกู!)

ธันวาคม 2020

Interaction Design Foundation (IDF)

เราเก็บความช้ำใจกลับมาไทยและหาที่เรียนใหม่ ระหว่างนั้นเราก็เริ่มลงเรียนด้วยตัวเองผ่าน Interaction Design Foundation เป็นการเรียนผ่านการอ่านบทความและวีดีโอ มีการตอบคำถามเก็บคะแนนวัดผล ซึ่งสมัครได้เป็นรายปี แต่ก็อ่านจนตาเหลือกปวดหัวเหมือนกัน ภาษาที่เค้าใช้มันยากประมาณนึงเลย บางประโยคคือคำขยายแบบ 2 บรรทัด แล้วศัพท์แบบขั้นสูง ขนาดที่แฟนเราซึ่งเก่งภาษาอังกฤษมากยังบอกว่ามันยากไป เราเลยมีดูที่เรียนที่อื่นด้วยอย่างเช่น Careerfoundry แต่แพงน้ำหูน้ำตาไหลเลยและเรายังมี Trigger เรื่องภาษาจาก GA อยู่ เดี๋ยวสมัครไปจะเรียนไม่รู้เรื่องอีก เราเลยลองหาตัวเลือกอื่นแทน และตอนนี้เราก็เลยรู้ตัวละว่าจุดอ่อนอีกอันที่เราต้องแก้คือภาษาอังกฤษ ระหว่างมองหาคอร์สเรียน UX เราก็ลงเรียนภาษาอังกฤษตามที่ต่าง ๆ ไปก่อน

มกราคม 2021

เราไปเจอคอร์สสอนระยะสั้นของ Thammasat Design Center หรือ TDC คอร์สที่เราลงมี UX Design และ Gamification ใช้เวลาเรียนคลาสละ 4 อาทิตย์ ตอนเรียนคลาส UX เราเข้าใจหลาย ๆ อย่างมากขึ้น เพราะคนสอนเป็นคนไทย (พี่แบงค์ อภิรักษ์) และได้ลงมือทำนิด ๆ หน่อย ๆ ด้วย และตอนที่เราเรียน Gamification ที่มี Massimo เป็น Instructor เค้าชวนเราให้มาทำโปรเจ็ค Gamification กับเค้า เราเลยมีโอกาสได้ทำโปรเจ็คกับลูกค้าจริง ๆ ที่เป็นบริษัทที่ฮ่องกงไปอีก 2 เดือนกว่า

คอร์ส UX ของ TDC

ตอนทำโปรเจ็ค Gamification คือสนุกมากแต่ก็เครียดมากเช่นกัน เพราะมันคือการทำงานร่วมกับลูกค้าจริง ๆ บางทีต้องฟัง Requirement ของลูกค้าว่าเค้าอยากได้อะไร และเราก็ต้องใช้กระบวนการ Design Thinking และศาสตร์ของ Gamification ในการออกแบบพัฒนาประสบการณ์การใช้แอป เรามีโอกาสได้ทดลองทำ User Interview ของจริง ได้ทำ Usability Testing แล้วก็พบว่ามีบางส่วนที่ทำผิด บางส่วนที่ทำถูก ดีที่พาร์ทเนอร์ที่ทำงานคู่กับเราเค้าเก่งมากและเพื่อนในทีมที่ร่วมกันทำโปรเจ็คนี้ก็เก่งมาก ๆ โปรเจ็คเลยผ่านไปได้ด้วยดี แต่สิ่งที่เราได้แน่ ๆ จากตรงนี้คือโปรเจ็คที่จะไปเขียนลงใน Portfolio ของเรา

UX Portfolio Inspiration

เราเริ่มทำ Portfolio เราพยายามถามหาหลายคนแบบอยากดูตัวอย่างว่าทำยังไง แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ดูกัน (อาจจะเพราะบางโปรเจ็คมันเป็นความลับที่เปิดเผยแพร่ไม่ได้) เราก็เลยไปมองดูวิธีการเขียนของคนอื่นจากหลาย ๆ ที่ เช่น UXFolio ถึงตรงนี้เราเลยเลือกทำ Portfolio ของเราเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเราก็ยังหวังจะได้ไปทำงานที่ต่างประเทศเหมือนกัน เราเริ่มแบบผิด ๆ ถูก ๆ ดูการเรียงขั้นตอนจากคนนึง ดูการเล่าเรื่องจากอีกคน เอามารวม ๆ แล้วปรับให้เป็นแบบเราที่มันเข้ากับโปรเจ็คของเรา Portfolio เวอร์ชั่นแรกของเรามันแย่มาก แต่เราทำดีที่สุดแล้วในตอนนั้น

ระหว่างนั้นเราไปเจอโพสรับสมัครงานของ Singapore Airline ใน Linkedin เค้ารับ Junior UX/UI เราตัดสินใจสมัครและเราเลยมาเกลา Portfolio ของเราใหม่ มีขอไปลองซ้อมสัมภาษณ์กับคนในวงการ UX หลายคน ซึ่งก็ใจดีกันมาก ตอนนั้นได้คุณลูกชิ้นมาช่วยซ้อมสัมภาษณ์ ได้นัท (Designil) กับคุณกบ (Kobie) มาช่วยเกลา Portfolio ของเรา หลาย ๆ คนให้ความช่วยเหลือเต็มที่มาก จนเราเริ่มมีความมั่นใจในการหางานมากขึ้น เราได้คนหลายคนมาช่วยเรา คนในวงการ UX หลาย ๆ คนใจดีมาก ๆ เราทั้งปรึกษา ทั้งถามทุกอย่างเลย จนเราได้สัมภาษณ์และพรีเซนต์ Portfolio แต่เราไม่ผ่านสัมภาษณ์ นะ สิ่งที่เราคิดคือ แสดงว่าเรายังทำ Portfolio ของเราไม่ดีพอ เราพรีเซนต์ไม่ดีพอ เรา email กลับไปหาเค้าเพื่อถามว่าเหตุผลที่เค้าไม่เลือกเราคืออะไร มีตรงไหนที่เราพอจะพัฒนาได้มั้ย เค้าตอบเราว่าเรามี learning curve ที่สูงมาก เค้าอยากได้คนที่มาถึงก็ไม่ต้องสอนงานเลย เราก็ fail นะ แต่ก็ไม่เป็นไรเอาใหม่ อย่างน้อยก็ได้ลองสัมภาษณ์แล้ว ได้รู้คำถามแล้วว่าเค้าถามอะไรบ้าง

พฤษภาคม 2021

เราก็สมัครงานเพิ่มขึ้น สมัครไปหลายที่มาก ๆ ส่วนใหญ่ไปจบตรงสัมภาษณ์งาน ในไทยส่วนใหญ่เขาอยากได้คนที่เน้นทำ UI เป็นหลัก ระหว่างสมัครงานไปเรื่อย ๆ ตอนนั้นก็คิดนะคงเพราะอายุมั้ง คงเพราะไม่เก่งมั้ง บางทีเจอให้ทำเทสต์แล้วเค้าถามเราว่า ทำไมปุ่มนี้ต้องเป็นสีเขียว เราก็ตอบไปแต่ก็ไม่รู้ว่ามันถูกมั้ย แต่ก็ไม่ได้งานนะ

แล้วเราก็เริ่มฝึกทำ UI ผ่านโปรเจ็ค “Daily UI Challenge” มันเป็นการฝึกทำโจทย์ UI 100 โจทย์ 100 วัน เราทำลง Dribbble ของเรา (แต่สารภาพเลยว่าทำไปได้แค่ประมาณ 20 โจทย์ก็ไม่มีเวลาทำต่อ มันเลยน้อยมาก) แต่มันเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้หัดและฝึกใช้เครื่องมือ เราแบ่งทำแบบ 10 โจทย์แรกทำบน Figma 10 โจทย์หลังใช้ Adobe XD เพราะเราก็ไม่รู้ทิศทางว่าบ.ส่วนใหญ่เค้าอยากได้คนที่เป็นโปรแกรมไหนกันแน่ (ไม่ได้ใช้ Sketch เพราะต้องเสียเงินซื้อ)

ส่วนหนึ่งของพอร์ตเรา

ส่วน Portfolio เราก็ปรับเรื่อย ๆ มีปรึกษาหลายคนมากแต่ก็มีเฟลมาก ๆ อยู่ช่วงนึง คือเราเอา Portfolio เราไปลงในกรุ๊ป UX Thailand เพื่อขอช่วยโปรเจ็คคนอื่นแหละ แบบขอทำฟรีเลยเพื่อแลกกับการลงมือทำจริง ๆ เพราะเราอยากได้ประสบการณ์ในการทำ UX แล้วเราเจอคนนึงเค้ามาคอมเม้นต์ Portfolio เราแรงมาก แรงจนเราร้องไห้เลย บอกว่างานเราเหมือนจะดีแต่ไม่ดี อันนั้นไม่ดี นี่ก็ไม่ดี ศึกษายังไม่พอ ไปศึกษา MVP ไปเรียนมาใหม่ แต่พอขอวิธีปรับปรุงให้ดีขึ้น คอมเม้นต์มาได้เลย ยินดีปรับปรุง เค้าก็ไม่บอกนะ เค้าบอกว่าเค้าไม่สอนใครแล้ว (แต่เค้าก็มีเปิดคอร์สสอน UX อยู่นะ เราเลยไม่ไปเรียนกับเค้าเลย เก่งแค่ไหนก็ไม่เอา ถ้าจะ Ego เยอะแบบนี้) จนเราเกือบจะยอมแพ้แล้วอะ ร้องไห้อยู่เป็นอาทิตย์ แบบทำไมเค้าต้องใจร้ายกับเราขนาดนี้นะ ทำไมเค้าไม่มี Empathy กับมือใหม่บ้างเลย แล้วจะไป Empathy user ได้ยังไง เราคิดเป็นวรรคเป็นเวร นอยอยู่นานจนเริ่มดีขึ้นเลยฮึบขึ้นมาใหม่

เราพักใจเราจากเรื่องนั้นโดยการเริ่มหา Podcast เกี่ยวกับ UX ฟัง เราไป 2 ช่องคือ Puxod Podcast กับหมีมีเรื่องเล่า เราฟังในทุกเวลาที่ว่างเพราะอยากซึมซับมันไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะหาที่ที่ลงตัว เราจะได้เข้าใจ UX มากขึ้นแบบเป็นธรรมชาติ

แล้วเราก็พยายามเอาตัวเองเข้าไปในกระบวนการการทำ UX มากขึ้น เราจำได้ว่าช่วงนั้นมีคนมาขอคนไปทดลองทำ usability test เราเลยไปเพื่อไปดูว่าเวลาเค้าทำ Usability ttesting เค้าทำยังไง เค้าถามเรายังไง มีคนมาสังเกตการณ์มั้ย เพื่อเก็บเป็นข้อมูลและประสบการณ์ จริงๆตอนนั้นเราก็ขอฝึกงานกับเค้าด้วยนะ แต่เค้าน่าจะยังไม่ได้เปิดรับ ก็เลยได้แต่ไปทำ Usability testing อย่างเดียว

กรกฎาคม 2021

เราบังเอิญไปเจอ UXCel มันเป็นเว็บสอน Basic UX/UI เป็นภาษาอังกฤษ แต่อ่านง่าย ไม่ยาก เรียนไปเล่นเกมของทางเว็บไปเพลิน ๆแล้วเราก็เริ่มมา get อะไรหลาย ๆ อย่างจากที่นี่ อย่าง Nielsen’s 10 Usability Heuristics เว็ฐนี้ก็อธิบายได้เข้าใจง่าย มี visual ที่เห็นปุ๊บก็เข้าใจเลย (เราอยากแนะนำเว็บนี้ให้มือใหม่ทุกคนมาก ๆ เพราะเรียนง่าย สนุกด้วย)

Instagram Account เกี่ยวกับ UX/UI ที่เราตาม follow และเปิดดูทุกวัน
ถ้าเจออันไหนน่าสนใจเราก็จะเซฟไว้อ่าน

ระหว่างนี้เราเองก็พยายามจะซึมซับทุก ๆ อย่างเกี่ยวกับ UX/UI สิ่งหนึ่งที่เราทำทุกวันไม่เคยขาดเลยคือการเข้า Instagram ที่เราไป Follow แอคเค้าท์ที่เกี่ยวกับ UX/UI เราเปิดทุกวัน ดูและซึมซับมันทุกวัน สะสมมันทีละเล็กละน้อย เรา save ไว้อ่าน (ต้องอ่านและฝึกตามนะไม่ใช่ save ไว้เฉย ๆ) แล้วเราก็ไปเจอที่นึง (เราจำแอคเค้าท์ไม่ได้เพราะเค้ามีขาย E-Book เกี่ยวกับ User Interface (Hype4 Academy) เราซื้อมาในราคา 79.99$ แล้วเราก็ค่อย ๆ อ่านช่วงที่มีเวลาว่าง สะสมไปเรื่อย ๆ ระหว่างรออนาคต

หนังสือเกี่ยวกับ User Interface ที่เราซื้อมาอ่าน

แล้วบังเอิญว่าทาง Thammasat Design Center เค้าชวนเรามาพูดคุยเกี่ยวกับโปรเจ็ค Gamification ที่เราทำ เลยทำให้เรามีโอกาสได้เจอคนที่มาหาคนทำงาน UX/UI ตอนเรากำลัง Live อยู่ เราเลยไปลองสมัครดู เรามีโอกาสได้ลองทำ Test และสัมภาษณ์กับเค้า แต่เค้าก็บอกว่าเราดูเหมาะจะเป็น UX มากกว่า UI ซึ่งเค้ามองหาคนทำ UI (แต่จริง ๆ เราอยากไปทาง UI ก่อน) เราเลยไม่ได้งาน แต่เราเองก็ยังไม่ท้อนะ เพราะนัท (Designil) บอกเราว่า “ถ้าสมัครงานยังไม่ถึง 100 ที่ ห้ามยอมแพ้!!” เอ้า! สู้ ไปต่อ

ช่วงนั้นเรายื่นขอฝึกงานต่อที่บริษัทนึงที่สิงคโปร์แฟนเราช่วยหาให้ เราบอกเค้าว่าไม่รับเงินเลยก็ได้ เราอยากได้ประสบการณ์การทำงานเท่านั้น เพราะเรารู้ว่าเราไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะสมัครงาน เค้าเรียกเราไปคุย 2 ครั้ง เค้าบอกว่าเรายังมีความรู้ไม่เพียงพอ เค้าอยากได้คนที่มาแล้วเป็นงานเลยไม่ต้องสอน เราพยายามบอกเค้าว่าเรามาขอฝึกงานไม่ได้มาสมัครงาน เค้าก็บอกว่านั่นแหละอยากได้แบบนั้น เราพยายามพรีเซ้นท์พอร์ตเราอย่างเต็มที่ เราถามเค้าว่าแล้วเด็กจบใหม่อยากมาฝึกงานเค้าจะเอาประสบการณ์มาจากไหน เค้าก็ไม่ตอบเรานะแต่พยายามช่วยแบบจะให้เราลองมา observe กับเค้า ให้มาช่วยงาน UI แต่สุดท้ายเค้าก็เงียบไป แล้วเราก็ Fail อีก ระหว่างนั้นเราก็เห็น Bootcamp ของ Skooldio เราใช้เวลาตัดสินใจอยู่ประมาณ 1–2 อาทิตย์ก่อนตัดสินใจลงเรียน

สิงหาคม 2021

เรามาลงเรียน UX Bootcamp ของ Skooldio แพงมากแต่เราก็จะลองดูอีกครั้ง เราดูหัวข้อการสอน ดูคนสอน มันเป็นคอร์สเรียน 6 อาทิตย์ เป็นการเรียนที่บอกได้เลยว่าครบมาก ครบในระดับที่จบไปก็สามารถเข้าใจและเอาไปใช้ทำงาน UX/UI ได้เลย เพราะมีครูสอนที่เรียกได้ว่าเป็นระดับ Top ของวงการ เราสามารถถามเค้าได้ตลอดในทุกข้อสงสัยที่มี ซึ่งมันทำให้เราเข้าใจได้เร็วกว่าการไปหาอ่านจากที่อื่น ๆ (เป็นเจ้าหนูจำไม ชอบถามไปเรื่อย ๆ) และเป็นคอร์สนี้เองที่ทำให้เราหายสงสัยกับอาการที่เราหงุดหงิดทุกครั้งเวลาเห็นปุ่มลิฟท์ผิดที่ผิดทาง มันคือต่อมเอ๊ะที่ UX ทุกคนควรมีนั่นเอง

จดทุกอย่างที่เรียน แล้วคอยอ่านซ้ำเรื่อย ๆ

เราตั้งใจกับ Bootcamp นี้มาก เพราะมันเป็นเหมือนไฟส่องสว่างที่ปลายทางของอุโมงที่เราเดินอยู่ เราทุ่มเทกับมัน พยายามเก็บเกี่ยวทุกสิ่งทุกอย่างระหว่างเรียน เราจดทุกอย่างที่ Instructor สอน ถามทุกเรื่องที่เราสงสัย มันเป็นโอกาสทองเพียง 6 อาทิตย์เท่านั้นที่เราจะถามทุกอย่างเกี่ยวกับ UX/UI แล้วจังหวะนี้เราก็เริ่มสมัครงานอีกครั้ง

ตุลาคม 2021

ในที่สุดเราก็ได้งานเป็น Junior UX/UI Designer บริษัทที่ไทย แต่เราสามารถทำที่สิงคโปร์ได้ (Work From Home) ตอนสัมภาษณ์งานเค้าก็ดู Portfolio เรานะ (Portfolio ของเรารวมทั้งงาน Graphic และงาน UX/UI) เค้าให้เราเล่าโปรเจ็ค UX/UI ให้ฟังแล้วก็บอกว่าไปเรียนอะไรมาบ้าง รออาทิตย์นึงแล้วเราก็ได้งานเลย ไม่ติดเรื่องอายุใด ๆ ตอนนี้เราทำงานจนผ่าน Probation เรียบร้อย แล้วก็ Happy มาก ๆ งานที่เราทำตอนนี้ก็ควบทั้ง Graphic และงาน UX/UI แต่มันก็เป็นการเบลนที่ดีนะ อย่างน้อยก็ยังมีจุดที่ถนัดให้ทำ ในขณะที่ก็พัฒนา Skill ด้าน UX/UI ต่อไปเรื่อยๆ

เราว่างงานตั้งแต่สิงหาคมปี 2019 และได้กลับมาทำงาน UX/UI ตอนตุลาคม 2021 เป็นเวลา 2 ปี ที่เราอ่าน เรียน ศึกษาเกี่ยวกับ UX/UI

สำหรับคำถามต่าง ๆ ที่เราเจอมาบ่อย ๆ

1. อายุ 30 เปลี่ยนสายงานมา UX/UI จะทันมั้ย

ตอบ: ทันค่ะ แต่ต้องยอมรับว่าในไทยอาจจะยากนิดหน่อยเพราะอาจจะมีติดเรื่อง Seniority หรือความเชื่อที่ว่าอายุ 30 ไอเดียและความ Active คงสู้เด็กเพิ่งจบไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้ว มันอยู่ที่ว่าเราพัฒนาตัวเองไปมากน้อยแค่ไหน เราอยากแนะนำให้ไปทำบ. Tech หรือแนว Start up อาจจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นค่ะ บางทีเค้าดูที่ผลงานไม่ดูอายุ (แต่มันไม่ใช่ทุกบริษัทนะที่เป็น)

2. เป็นกราฟิกอยู่ อยากมาสาย UX/UI ยากมั้ย ทำยังไง

ตอบ: สำหรับเรา เราว่ายากนิดหน่อยตรงที่มันไม่ใช่การ Design แบบเอา Text เอารูปมาวางตัดแปะ แต่มันคือการถามว่าทำไม และสิ่งที่ยากที่สุดคือการ Empathy User ซึ่งมันต้องฝึก อีกเรื่องที่ยากและต้องฝึกคือห้ามนึกถึง Solution ทันทีแต่ต้องทำความเข้าใจ Problem และลอง Ideate ออกมาก่อน อย่าง UI ก็ต้องมีการทำ Design System อีก ซึ่งมันเป็นงานละเอียดมากกว่างานกราฟิกมาก แล้วถ้าอยากย้ายสายก็ต้องอ่าน เรียน ศึกษา ทำ Portfolio เราคิดว่ากราฟิกจะได้เปรียบนิดหน่อย อย่างน้อยก็เรื่องการจับคู่สี, Design Principle, Alignment ต่าง ๆ, การจับวางลง Grid หรือ Balance ซ้ายขวา แล้วก็ต้องหัดใช้ Figma, Sketch หรือ Adobe XD ค่ะ (แต่ส่วนใหญ่เค้าใช้ Figma กัน)

3. หางาน UX ยากมั้ย?

ตอบ: ยากค่ะ 55555 เรากว่าจะได้งานก็สมัครไปเกิน 10 ที่นะ ทุกครั้งที่ไม่ผ่านสัมภาษณ์เราก็กลับมาแก้ Portfolio เราทุกครั้ง แต่ในทุกครั้งที่เราสัมภาษณ์ไม่ผ่าน เราจะถามเค้าว่าเรามีตรงไหนที่พอจะพัฒนาได้บ้างเผื่อในอนาคตเราได้ร่วมงานกัน แล้วก็เก็บมาพัฒนาตัวเอง

4. กราฟิกกับ UI ต่างกันยังไง

ตอบ: กราฟิกส่วนใหญ่ก็จะทำ VDO, ออกแบบ Banner หรือทำสื่อสิ่งพิมพ์ โดยส่วนตัวเราคิดว่ามันคล้ายกับการทำงาน Print นิดหน่อยค่ะ (แค่นิดหน่อยนะคะ) ถ้าพูดแบบผิว ๆ คือวาง layout เว็บหรือแอป เพียงแต่เปลี่ยนจากการดูเป็น millimeters เป็น pixel แทน และมีรายละเอียดเรื่องอื่นเช่นระบบ 4 Grid System หรือการทำ Design System แล้วการทำ UI อาจจะไม่หวือหวาเท่ากับงานกราฟิกแต่ต้องเน้นใช้งานง่ายเป็นหลักตามที่ทำ UX มา ต้องมีการคิด Flow ต่าง ๆ เพื่อให้คนที่ใช้งานเว็บหรือ App ของเราใช้งงานได้ smooth มากขึ้น งานมันต้องคิดเยอะมาก ๆ ค่ะ

5. ลงทุนเท่าไหร่ ถ้าจะย้ายสายงานจากกราฟิกมาเป็น UX/UI Designer

ตอบ: อันนี้ขึ้นอยู่กับวิธีของแต่ละคนเลยค่ะ แต่เราเป็นคนที่อ่านอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีคนมาสอน (เราเงื่อนไขเยอะ) เราเลยทั้งอ่าน ทั้งเรียน ของเราหมดไปประมาณ 100,000+ แต่อันนี้ไม่ได้เป็นมาตรฐานนะ บางคนที่เค้าเก่งมากๆ เค้าทำพอร์ตแล้วก็อาจจะได้งานเลยก็ได้

6. ทำ Workshop UX/UI สักคอร์สนึง สมัครงานได้เลยมั้ย

ตอบ: เราว่าไม่พอค่ะ เพราะระยะเวลามันสั้นมากเกินกว่าเราจะประกอบทุกอย่างเพื่อไปสมัครงานสาย UX/UI ได้ นอกจากว่าคุณจะมี Portfolio ที่แน่นพอจะไปสมัครงาน

7. ไม่เก่งภาษาอังกฤษ จะทำงาน UX/UI Designer ได้มั้ย

ตอบ: เราว่ามันขึ้นอยู่กับบริษัทว่าเค้าภาษาอังกฤษมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้ารู้ภาษาอังกฤษก็จะมีความได้เปรียบขึ้นมา ส่วนใหญ่บทความเกี่ยวกับ UX มันก็เป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเรารู้มันก็ทำให้เราอ่านเข้าใจแล้วรู้มากขึ้น แล้วถ้าภาษาอังกฤษแน่นมาก ๆ อาจจะมีโอกาสทำงานที่ต่างประเทศได้เลย แต่ภาษาอังกฤษก็เรียนเพิ่มได้นะ ติดอาวุธให้ตัวเองเพิ่ม

8. เรียน UX/UI ที่ไหนยังไงบ้าง

ตอบ: เรามีเขียน Review คอร์สที่เราเรียนทั้งหมดไว้ สามารถไปอ่านได้ที่นี่

9. อยากเป็น UX/UI Designer เริ่มต้นยังไงดี

ตอบ: อาจจะเริ่มหาข้อมูล หาหนังสือเกี่ยวกับ UX มาอ่านก่อนก็ได้ เพื่อจะได้เข้าใจว่าทำอย่างไร คิดอย่างไร แล้วก็ดูรีวิวการย้ายสายงานของคนอื่นเยอะ ๆ อาจจะลงคอร์สเรียนแบบฟรีหรือไปอ่านบทความดูก่อนว่าใช่อย่างที่สนใจรึเปล่า ถ้าคิดว่าใช่อาจจะลงคอร์สเรียนอื่นเสริม หรือลองหา Mentor สักคนเพื่อพูดคุยสอบถามก็ช่วยได้เยอะเหมือนกัน

10. มีความรู้ UX แบบ Basic ไปสมัครงานได้มั้ย

ตอบ: มันเป็นคำถามที่ตอบยากเพราะ Basic ของแต่ละคนไม่เท่ากัน สิ่งที่จะวัดผลได้ว่าความรู้ที่เรามีมันเพียงพอแล้วหรือมั้ย คือเอาความรู้นั้นมาทำโปรเจ็คลง Portfolio แล้ววัดผลจากการให้คนอื่นช่วยดูให้ หรือลองไปสัมภาษณ์งานลงสนามจริงเลย

**คำตอบของเรามันเป็นเพียงมุมมองของเรา เราอาจจะมองไม่เหมือนคนอื่น แนะนำให้ลองศึกษาจากหลาย ๆ คนค่ะ

สรุปแบบเร็ว ๆ

เราเตรียมตัวก่อนย้ายมา UX ยังไง

นี่คือประสบการณ์ที่เราผ่านมา ทางที่เรามาอาจจะไม่ใช่ทางที่เดินเร็วหรือเดินอย่างถูกต้อง แต่ในหนึ่งจุดหมายปลายทางอาจมีถนนอยู่หลายสายก็ได้ และเส้นทางของแต่ละคนก็มาไม่เหมือนกัน

สุดท้ายแล้วเราอยากให้ทุกคนมีความหวังนะ ใครที่อยากย้ายสายงาน ลองสัมผัสดูก่อนว่ามันใช่มั้ย ถ้าใช่ก็อย่าไปกลัว ลองดูสักตั้ง อายุอาจจะมีผลนิดหน่อยกับบางบริษัท อาจจะต้องลองสมัครบริษัทที่เป็น Start up ก่อนก็ได้ ที่สำคัญเลยคือ Portfolio เราขอให้ทุกคนโชคดีกับการย้ายสาย ถ้าใครมีข้อสงสัย อยากปรึกษา ก็ทักมาถามเราได้นะที่ Twitter @meawzilaz

--

--

Chotika Sopitarchasak

Thai UX/UI Designer | Former Graphic Designer | KMUTT | SoA+D